วันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2556

ยักษ์แห่งเกาะอีสเตอร์



เดินทางมาสัมผัสเกาะปริศนาที่ โดดเดี่ยว เวิ้งว้างกลางมหาสมุทร รูปสลักหินลึกลับขนาดมหึมากว่า 800 รูป เรียงรายเต็มฝั่งทั่วเกาะ 
ทั้งที่ไม่มีคนอยู่ รูปสลักนี้มาจากไหน ? สร้างขึ้นได้อย่างไร ? อาจเป็นชาวโพลีนีเชียนชนพื้นเมืองที่มาตั้งรกรากเมื่ อ ค.ศ. 400 เป็นผู้สร้างขึ้น 
แต่ทำไมถึงสร้าง และอยู่บริเวณนี้ได้อย่างไรยังคงเป็นปริศนาดำมืด ด้วยวิวัฒนาการความรู้ของคนในสมัยอดีต 

เป็นไปไม่ได้ที่พวกเขาจะยกหินที่หนักกว่า 75 ตันมาไว้ตามชายฝั่งได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ถึงกระนั้นรูปปั้นเหล่านี้ก็ยังคงถูกทิ้งไว้เพื่อค้น หาคำตอบต่อไป

หินยักษ์แห่งเกาะอีสเตอร์

โมอาย Ahu Akiviแปลกกว่าบริเวณอื่นเนื่องจากหันหน้าออกทะเล 

ความลี้ลับของ “เกาะอีสเตอร์” (Easter Island) ประเทศชิลี เป็นหัวข้อหนึ่งที่นักประวัติศาสตร์ และนักวิชาการทั้งหลายพยายามหาข้อพิสูจน์และถกเถียงกันมายาวนานนับร้อยปี 
เกี่ยวกับปริศนาเกาะอีสเตอร์ รวมถึงหินแกะสลักขนาดยักษ์ที่ตั้งเรียงราวอยู่ตามชายหาด และทั่วบริเวณเกาะ



คำถามที่ว่า ใครเป็นคนแกะสลักสิ่งเหล่านี้? แกะสลักเพื่ออะไร? หินเหล่านี้มาจากไหน? เคลื่อนย้ายหินขนาดยักษ์นี้ได้อย่างไร? ใช้เครื่องมืออะไรสลัก? 
แล้วเหตุอันใดการสร้างแกะศิลาเหล่านี้จึงยุติ? รวมถึงความแน่ชัดของอารยธรรม และอีกหลากหลายปริศนาที่จนบัดนี้ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ 
แต่ด้วยเหตุที่เต็มไปด้วยปริศนาลี้ลับนี้เองที่เป็นเหตุจูงใจให้นักท่องเที่ยวและนักวิชาการทั้งหลายเดินทางมาเยือนเกาะอีสเตอร์อย่างไม่หยุดหย่อน



โดยเฉพาะอย่างยิ่งความโด่งดังของหินสลักขนาดยักษ์ “โมอาย” หรือ โมอาอิ (Moai) ที่มีความน่าอัศจรรย์ เป็นตัวแทนซึ่งแสดงผลงานชิ้นเอก
ที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันฉลาด และเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว 
อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของวัฒนธรรมมนุษย์ ขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรม วิธีการก่อสร้าง หรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งเสื่อมสลาย
ได้ง่ายจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมตามกาลเวลา

จนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น มรดกของโลก ในปี 2538 นอกจากจะได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกของโลกอันมีคุณค่าแก่การรักษาและอนุรักษ์แล้ว 
โมอายยังติดโผ 21 สถานที่ ว่าที่ 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ที่ได้ทำการคัดเลือกไปแล้วเมื่อปี 2007 ที่ผ่านมาอีกด้วย

เจ้าหินโมอายนี้มีมาตั้งแต่เมื่อไรไม่มีใครรู้แน่ชัด แต่ที่แน่แท้คือ หินเหล่านี้มีอยู่บนเกาะอีสเตอร์ เกาะเล็กๆรูปสามเหลี่ยมพื้นที่ประมาณ 160 ตารางกิโลเมตร 
ท่ามกลางมหาสมุทรแปซิฟิก ห่างจากทวีปอเมริกาใต้ประมาณ 3,747 กิโลเมตร นักภูมิศาสตร์เชื่อว่า เกาะนี้ถือกำเนิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ 
ใต้มหาสมุทรเมื่อหลายล้านปีมาแล้ว

โมอายหันหน้าเข้าหาฝั่งเสมอทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองเกาะ ที่ Anakena Beach, โมอาย ที่ Ahu Naunau 7 ตัว 4ใน7 ตัวนี้มี Pukao บนหัว
นักวิชาการหลายท่านสันนิษฐานไปในทิศทางเดียวกันว่า มนุษย์ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานบนเกาะแห่งนี้ครั้งแรกคือชาว “โพลีนีเซียน” (Polynesia) 
เมื่อคนเหล่านี้เดินทางมาถึงเกาะก็ได้บุกเบิกสร้างเมืองทันที โดยเอาสัตว์เลี้ยง และต้นไม้มาปลูกบนเกาะ



และในปี ค.ศ.380 ได้เริ่มมีรูปสลักคนนั่งคุกเข่า ซึ่งสลักจากหินบะซอลต์หรือกากแร่ภูเขาไฟ ต่อมาในยุค ค.ศ.1100 ได้มีรูปสลัก “โมอาย” (Moai) 
ซึ่งสลักจากหินภูเขาไฟ “ราโน รารากู” (Rano Raraku) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะ ลักษณะเป็นครึ่งตัว ลำตัวส่วนบนเหมือนผู้ชาย หน้าตาคล้ายกันหมด
คิ้วโหนกออกมาจนเป็นสัน ดวงตาใช้วัสดุอื่นฝั่งลงไปในเนื้อหิน ช่วงปลายจมูกเชิดขึ้นเล็กน้อยรับกับปากที่แบะและยื่น มีคางเป็นเหลี่ยม ติ่งหูยาว มีแขนที่แนบชิดติดลำตัว 
สูงประมาณ 6-30 ฟุต หนักประมาณ 50 ตัน ตั้งอยู่บนฐานหินที่เรียกว่า “อาฮู” (Ahu)

ต่อมาก็มีการสร้างรูปสลักลักษณะแบบเดียวกันแต่สูงใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และได้มีการเติมส่วนจุกสีแดง หรือที่เรียกว่า “พูคาโอ” (Pukao) บนศีรษะ โดยเชื่อกันว่ารูปสลักเหล่านี้
เป็นสัญลักษณ์แทนเทพเจ้า หรือหัวหน้าเผ่าผู้ล่วงลับไปแล้ว จนในปี ค.ศ.1680 ได้เกิดสงครามขึ้นระหว่างสองชนเผ่าที่อาศัยอยู่บนเกาะทำให้ป่าไม้เริ่มหมด อาหารการกินร่อยหรอ
เป็นปัจจัยที่ทำให้อาณาจักรนี้ล่มสลาย โมอายที่ Ahu Tongariki มี 15 ตัวด้วยกัน



นอกจากนี้ บนเกาะอีสเตอร์ยังมีตำนานเก่าแก่เกี่ยวกับ “มนุษย์ปักษี” (Birdman) โดยตัวแทนของแต่ละเผ่าจะต้องแข่งขันกันเพื่อแย่งสิทธิ์ในการใช้ทรัพยากร 
โดยวิ่งลงหน้าผาสูงชันแล้วว่ายน้ำข้ามไปยังเกาะโมโตนุย (Moto Nui) เพื่อหาไข่แล้วนำไข่ว่ายน้ำกลับมาให้ผู้นำของเผ่านั้นได้ก็ถือว่าชนะ ซึ่งผู้นำเผ่าของผู้ชนะนอกจาก
จะได้รับการยกย่องให้เป็นมนุษย์ปักษีประจำปีนั้นๆแล้ว ยังได้สิทธิ์การปกครองและการใช้ทรัพยากรอีกด้วย แต่นั้นก็เป็นเพียงตำนานหนึ่งที่เล่าสืบต่อกันมาถึงการล่มสลายของเกาะ
ซึ่งในปัจจุบันก็ยังหาข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนไม่ได้

ชื่อของเกาะนี้ก็เช่นกัน นักวิชาการบางคนเชื่อว่าเดิมเกาะอีสเตอร์มีชื่อพื้นเมืองว่า “Te Pito O Te Henua” มีความหมายคือ“Navel of The World” หรือ “สะดือของโลก” 
กระทั่งปี ค.ศ. 1722 ในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ นักเดินเรือชาวดัตช์ซึ่งถือเป็นชาวยุโรปกลุ่มแรกได้เดินทางมาพบเกาะเล็กๆที่มากด้วยรูปสลักหินขนาดยักษ์เรียงรายอยู่ตาม
ชายหาดหันหน้าเข้าหาฝั่ง จึงตั้งชื่อเกาะว่า “Easter Inland”




จากนั้นในปี ค.ศ.1770 นักเดินเรือชาวสเปนได้ค้นพบเกาะแห่งนี้อีกครั้ง และพบว่ามีประชากรอยู่นับพันคน อีกไม่กี่ปีต่อมา กัปตัน James Cook ก็ได้มาพบเกาะอีสเตอร์ 
แต่ขณะนั้นประชากรบนเกาะเหลือเพียงไม่กี่ร้อยคน ซึ่งคาดว่าเหตุที่ประชากรลดลงอย่างรวดเร็วน่าจะมาจากการที่ประชากรแย่งกันใช้ทรัพยากรจนหมดไปนั้นเอง

เวลาผ่านไปจนถึงปี ค.ศ.1862 รัฐบาลเปรูได้กวาดต้อนชาวพื้นเมืองไปเป็นทาสบนแผ่นดินใหญ่ และเมื่อทาสบางส่วนถูกปล่อยตัวกลับเกาะ ก็ได้นำเชื้อไข้ทรพิษกลับไปด้วย 
ทำให้ประชากรชาวเกาะทีมีอยู่น้อยยิ่งลดจำนวนลงอย่างมาก บวกกับที่ชาวพื้นเมืองไม่ได้บันทึกเรื่องราวอะไรไว้ ทำให้อารยธรรม ความเป็นอยู่ของชาวพื้นเมืองบนเกาะอีสเตอร์
เลือนหายไปพร้อมๆกับผู้คนและกาลเวลา 

จนในศตวรรษ ที่ 19 ประเทศชิลี (Chile) ก็ได้ผนวกเกาะอีสเตอร์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศในปี ค.ศ.1888 และในเวลาต่อมาได้มีการสร้างสนามบินขึ้นบกเกาะแห่งนี้ 
เกาะอีสเตอร์ก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งของโลกนับแต่นั้นมา



ปัจจุบันบนเกาะอีสเตอร์แห่งนี้มีภูเขาไฟที่ดับแล้วอยู่ 3 ลูกได้แก่ ภูเขาไฟราโน รารากู (Rano Raraku), ภูเขาไฟราโน กาโอ (Rano Kao) และ ภูเขาไฟราโน อาโรย (Rana Aroi) 
สำหรับภูเขาไฟราโน กาโอ ตั้งอยู่ตรงปลายเกาะ หากจะขึ้นไปชมด้านบนต้องเดินขึ้นเนินเลียบทะเลขึ้นไปที่ปากปล่อง ด้านบนสามารถชมวิวอันสวยงามของเกาะได้ ส่วนภูเขาไฟราโน รารากู 
ด้านบนปากปล่องภูเขาไฟเป็นทะเลสาบที่สวยงาม และมองเห็นวิวทิศทัศน์ได้กว้างไกล ว่ากันว่าแหล่งกำเนิดของโมอายอยู่ที่ภูเขาไฟแห่งนี้นี่เอง 

นอกจากโมอายแล้ว เกาะอีสเตอร์แห่งนี้ยังมีสถานที่ที่น่าสนใจมากมาย เช่น หมู่บ้าน Hanga Roa, หมู่บ้าน Orongo, แหลม Poike, สุสาน Ahu Vinapu 
และชายหาด Anakena ที่สวยงาม เป็นต้น

จากความลี้ลับ อดีตที่ไม่แน่ชัดและปริศนามากมายที่หาข้อพิสูจน์ไม่ได้ของเกาะอีสเตอร์ ทำให้เกาะแห่งนี้กลายมาเป็นแหล่งศึกษาทางอารยธรรมของมนุษย์อีกแหล่งหนึ่ง
ซึ่งในวันนี้ก็ยังมีการถกเถียงกันอย่างไม่รู้จบ และยังคงเป็นปริศนาที่ทิ้งไว้ให้ผู้คนทั่วโลกเดินทางมาค้นหาคำตอบกันต่อไป 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น